หลังจากที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เริ่มบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็ยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายท่าน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเคยชินในชีวิตประจำวัน ที่สังคมของเราเองก็ไม่ค่อยเคร่งหรือจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้นัก ตั้งแต่เพลง, ภาพยนตร์, รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ขายกันแม้กระทั่งในห้างดัง
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
สำหรับรายละเอียดฉบับเต็มอย่างเป็นทางการ สามารถอ่านได้ที่ พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗, พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จึงขอสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ในแต่ละกรณี (ที่คนส่วนใหญ่น่าจะเจอ) ดังนี้ครับ
1. อยากมีลิขสิทธิ์ต้องจดลิขสิทธิ์หรือไม่
เป็นความเข้าใจผิดของคนไทยส่วนใหญ่เกี่ยวกับสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ กล่าวสรุปง่าย ๆ ก็คือ ลิขสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนใด ๆ เลย (แต่ใครจะจดก็ได้เพื่อความชัดเจน เช่น ลายเส้นการ์ตูน) แต่สำหรับตัวอย่างเช่นภาพถ่ายหรือวีดีโอ จะมีผลคุ้มครองทันทีตั้งแต่กดชัตเตอร์ภาพนั้นออกมา
2. ลิขสิทธิ์จะเป็นของใคร
ตามปกติแล้วลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้สร้างเสมอ แม้กระทั่งไม่ได้ใช้กล้องของตัวเอง แต่เป็นการยืมกล้องเพื่อนมาถ่ายรูปก็ตาม ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้สร้างหรือผู้กดชัตเตอร์นั่นเอง เว้นเสียแต่ว่า มีข้อตกลงอื่นใด เช่น การจ้างเพื่อถ่ายรูปลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ว่าจ้าง เป็นต้น
3. ภาพมีลายน้ำคือภาพมีลิขสิทธิ์
ในอดีตเราถูกสอนมาว่าถ้าไม่อยากถูกในขโมยรูป ให้ใส่ลายน้ำหรือลายเซ็นต์ไว้ในรูป จนทำให้หลายครั้งเราก็มักคิดไปเองว่า “ไม่มีลายน้ำ = ไม่มีลิขสิทธิ์” แต่แท้จริงแล้วทุกภาพบนโลกใบนี้ล้วนมีลิขสิทธิ์ (เว้นเสียแต่ว่าเขาจะอนุญาติให้ใครใช้งาน)
4. ไม่อยากโดนฟ้องต้องให้เครดิต
บางคนอาจคิดว่าการให้เครดิตแล้วเท่ากับจบกัน ถ้าการให้เครดิตแล้วจบกันบนโลกนี้คงไม่มีใครละเมิดลิขสิทธิ์ กล่าวก็คือการให้เครดิตหรือที่มาเป็นเพียงมารยาท ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย (ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะเอาความ) ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิดสับสนระหว่าง Creative Commons มากกว่า เพราะบางข้อตกลงอนุญาติให้นำไปเผยแพร่ต่อได้ แต่ต้องแสดงแหล่งที่มา เช่น บางเว็บบล็อค
รู้หรือไม่? : การให้เครดิตที่ถูกต้องคือลิงค์ต้องสามารถคลิกไปยังต้นทางหรือต้นฉบับได้เท่านั้น
5. ซื้อแผ่นแท้มาแล้วสามารถทำสำเนาได้หรือไม่
บางคนอาจชื่นชอบศิลปินเป็นพิเศษ จนอยากเก็บแผ่นเอาไว้จึงทำการสำเนาลงคอมพิวเตอร์เพื่อสะดวกในการรับชม หากเป็นการกระทำเพื่อใช้งานคนเดียวไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ (เนื่องจากเราได้ซื้อแผ่นนั้นมาแล้ว) แต่ถ้าหากทำการส่งไฟล์ต่อให้ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เพื่อนเองก็ตาม ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ (ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ขายก็ตาม)
6. แผ่นแท้เอาไปขายมือสองได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้เราอาจเคยได้ยินข่าว “จับคนขายของเก่าที่ขายแผ่นซีดีมือสอง” (แน่นอนว่ามันไม่เป็นความจริงเลย) เพราะถ้าหากคุณได้มาอย่างถูกต้องสามารถนำไปขายต่อได้ตามปกติ ส่วนการซื้อแบบดิจิตอลดาวน์โหลดเป็นเพียงการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ ไม่สามารถนำไฟล์ดังกล่าวไปขายต่อได้
รู้หรือไม่?: เพลงที่อยู่ใน iTunes ไม่สามารถส่งเป็นมรดกให้ลูกหลานได้นะ
7. การกดแชร์จะถือว่าผิดลิขสิทธิ์หรือไม่
หากเราถูกใจรูปภาพหรือสื่อใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Social Network ใดก็ตามที่มีคำสั่งให้ “แชร์” ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่จำเป็นต้องขออนุญาติใด ๆ เนื่องจากเป็นการรับชมที่ “เจ้าของผลงาน” แต่ถ้าหากเป็นการ Copy แล้วมาลงใหม่ในช่องทางของตัวเอง อันนี้ถือว่าผิดอย่างแน่นอน
8. ดาวน์โหลดเพลงจาก YouTube ถือว่าผิดไหม
หลายคนนิยมดู MV หรือเพลงใหม่ ๆ บน YouTube ซึ่งก็ไม่ได้ผิดลิขสิทธิ์ประการใด (หากผู้สร้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง เช่น ค่ายเพลงหรือเจ้าของผลงาน) แต่บางคนก็สรรหาวิธีและเทคนิคมาดาวน์โหลดดึงไฟล์ออกมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าผิด “ข้อตกลง” อย่างแน่นอน (เป็นเหตุผลเดียวกันที่ YouTube ไม่มีปุ่มดาวน์โหลด) ส่วนการดึงเอาโค้ดมา Embed ในเว็บไซต์ตัวเอง ในไทยยังไม่เคยมีการฟ้องร้องออกมา ต้องขึ้นอยู่กับศาลตีความ
9. แค่ไหนถึงเรียกว่าละเมิด
“ห้ามคัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ทำซ้ำ จัดพิมพ์ หรือกระทำอื่นโดยวิธีการใด ๆ ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดก็ตาม” ดังนั้นอย่าคิดว่าการเอามาแค่นิดเดียวจะไม่ผิดนะครับ
10. ลิขสิทธิ์เกี่ยวกับเพื่อการศึกษาหรืออนุรักษ์
ทาง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ถือเป็นข้อยกเว้นในกรณีที่ใช้เพื่อการศึกษา (ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี) รวมถึงการทำสำเนาเพื่อเก็บอนุรักษ์อันนี้ก็เป็นข้อยกเว้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเก่าหายากที่ไม่มีพิมพ์อีกแล้ว
สรุป
เรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะ และหลายกรณีก่อนค่อนข้างที่จะคลุมเครือ แต่มีหลักง่าย ๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์อยู่เล็กน้อยที่ทุกคนควรใส่ใจก็คือ
- ทำเพื่อแสวงหากำไร (ทั้งทางตรงและอ้อม) หรือไม่?
- ขัดต่อการแสวงหากำไรจากเจ้าของลิขสิทธิ์เดิมหรือไม่?
- ได้ทำผิดข้อตกลงจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่?
หากคำตอบ “ใช่” แม้แต่ข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ข้อนี้ ก็เท่ากับว่า “คุณได้ละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว” ก่อนจากไปขอฝากบทความเก่า วิธีค้นหารูปภาพใน Google มาใช้ให้ถูกลิขสิทธิ์ เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังอยากได้ ภาพประกอบอย่างถูกต้องจากอินเตอร์เน็ตครับ
Leave a Reply